ทักษะพฤติกรรมการสอนที่สำคัญ
ทักษะการสอน หมายถึง ความชำนาญในพฤติกรรมการสอนแต่ละอย่างของผู้สอนที่ใช้ในการปฏิบัติงาน การฝึกทักษะการสอนก็เพื่อให้ผู้ฝึกเกิดความคล่องแคล่วมั่นใจในการแสดงพฤติกรรมนั้น ๆ และแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองก่อนที่จะได้มีการสอนในชั้นเรียนทักษะสำคัญ ๆ ที่ผู้สอนทุกคนควรจะต้องฝึกปฏิบัติและคำนึงถึงในการสอนมี 9 ทักษะ ด้วยกัน คือ ทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน,ทักษะการอธิบาย, ทักษะการใช้แรงจูงใจแปรเปลี่ยนความสนใจ,ทักษะการใช้คำถาม,ทักษะการเสริมกำลังใจ,ทักษะการสรุปบทเรียน,ทักษะการใช้สื่อการสอน,ทักษะการควบคุมชั้นเรียน,ทักษะการพัฒนาความคิดของนักเรียน
๑. ทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน (Set Induction)
การนำเข้าสู่บทเรียน เป็นกิจกรรมที่ผู้สอนควรจะกระทำเมื่อจะเริ่มกิจกรรมการสอนใด ๆ เพื่อเป็นการเร้าความสนใจและสร้างความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ถ้าจะเปรียบกับการเรียงความก็เสมือนเป็นคำนำหรือบทนำ การที่ผู้เรียนจะสนใจติดตามเรื่องราวหรือการสอนที่ผู้สอนนำเสนอหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้สอนได้นำเสนอสิ่งที่น่าดึงดูดความสนใจได้ดีหรือไม่ดี ส่วนวิธีการนำเข้าสู่บทเรียนได้ดีหรือไม่ ถือเป็นศิลปะของผู้สอนนั้น ๆ ที่จะต้องฝึกฝนจนเกิดทักษะ การนำเข้าสู่บทเรียนทำได้หลายวิธี เช่น ใช้การสนทนาซักถาม การทบทวนบทเรียนให้สัมพันธ์กับบทเรียนใหม่ การใช้เกม การตั้งปัญหาให้ร่วมกันอภิปราย การใช้สื่อการสอน โดยให้ดูภาพ ของจริง หรือดูวิดีทัศน์ เป็นต้น
๒. ทักษะการอธิบาย (Presentation)และยกตัวอย่าง(Example)
ทักษะการอธิบาย หมายถึง การทำให้ผู้อื่นเข้าใจ ด้วยการบอก การตีความ การยกตัวอย่าง การสาธิต การใช้วัสดุอุปกรณ์ การอธิบายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสอนและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสอนแบบบรรยาย การอธิบายนับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน เพราะผู้สอนจะช่วยให้ผู้เรียนได้เกิดความกระจ่างและเข้าใจเนื้อหาวิชาได้อย่างถูกต้อง
๓.ทักษะการใช้แรงจูงใจแปรเปลี่ยนความสนใจ(Motivation or Variation)
การใช้แรงจูงใจ หรือแปรเปลี่ยนความสนใจ หมายถึง กระบวนการ กลวิธี หรือวิธีการที่ใช้เพื่อขจัดความน่าเบื่อหน่ายในการจัดการเรียนการสอน เพื่อช่วยเพิ่มความกระตือรือร้น ความตื่นเต้น ในการเรียนอยู่เสมอ
๔. ทักษะการใช้คำถาม (Question)
ทักษะการใช้คำถาม คือ ความสามารถในการใช้คำพูดหรือประโยคที่มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นหรือดึง การตอบสนองของผู้เรียนออกมา จุดมุ่งหมายที่ครูใช้คำถามถามนักเรียนมีหลายประการด้วยกัน เช่น ต้องการทราบว่านักเรียนเข้าใจหรือรู้เรื่องที่ครูสอนแล้วหรือไม่เพียงไร นักเรียนอ่านหรือทำการบ้านที่กำหนดให้หรือไม่ หรืออาจจะถามเพื่อเร้าความสนใจหรือทำความกระจ่างในจุดใดจุดหนึ่งโดยตรงก็ได้
๕. ทักษะการเสริมกำลังใจ (Reinforcement)
ทักษะการเสริมกำลังใจ หมายถึง ความสามารถในการใช้วิธีการที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจ ความกล้าแสดงออก ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน โดยอาจเป็นการให้รางวัลหรือคำชมเชยหลังจากที่บุคคลประพฤติปฏิบัติหรือมีพฤติกรรมตามที่เราต้องการ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีถ้าบุคคลมีความรู้สึกประสบความสำเร็จ เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ดังนั้นในการสอนผู้สอนควรพยายามสร้างความรู้สึกประสบความสำเร็จให้เกิดขึ้นในตัวของผู้เรียน ถ้าผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงปรารถนา ผู้สอนก็ควรที่จะทำการเสริมกำลังใจให้แก่ผู้เรียนได้ทราบโดยทันที ทุกครั้ง ซึ่งตามหลักจิตวิทยาแล้วการกระทำเช่นนี้จะมีผลทำให้เกิดพฤติกรรมที่พึงปรารถนาซ้ำ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย วิธีการที่ผู้สอนจะนำมาใช้มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การที่ผู้สอนแสดงท่าทางยอมรับ การกล่าวคำชมเชยโดยตรง การยิ้ม แสดงสีหน้าพอใจ การพยักหน้า ให้ผู้เรียนเห็นความก้าวหน้าของตนเอง การให้รางวัล เป็นต้น
๖. ทักษะการสรุปบทเรียน (Set Closure)
ทักษะในการสรุปบทเรียน หมายถึง ความสามารถในการรวบรวมใจความหรือเนื้อเรื่องที่สำคัญ ๆ ที่ผู้สอนต้องการจะให้ผู้เรียนทราบเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในบทเรียนตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องและสมบูรณ์ขึ้น โดยทั่ว ๆ ไปการสรุปบทเรียนจะทำทุกครั้งหลังจากที่สอนจบบทเรียนแล้ว เพื่อผู้เรียนจะได้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างของความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่ได้รับ
๗. ทักษะการใช้สื่อการสอน (Media Presentation)
ทักษะการใช้สื่อการสอน เป็นความสามารถในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ คน หรือวิธีการ ที่ช่วยเป็นตัวกลางในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เห็นภาพที่ชัดเจน บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ผู้สอนตั้งไว้ ผู้สอนสามารถนำสื่อการสอนไปใช้ในทุกขั้นตอนของการสอน เช่น ขั้นการนำเข้าสู่เรื่อง ขั้นสอนเนื้อหา ขั้นสรุปบทเรียน ฯลฯ การใช้สื่อประกอบการสอนจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับวิธีการเตรียม การเลือก และการใช้ของผู้สอนแต่ละครั้งเป็นสำคัญ
๘.ทักษะการควบคุมชั้นเรียน(Classroom Controlling or Classroom Management And Discipline )
ทักษะการควบคุมชั้นเรียน หมายถึง การควบคุมดูแลและจัดสภาพชั้นเรียนให้มีสภาพที่ดี มีความเหมาะสม มีความพร้อมที่จะเริ่มการเรียนการสอน กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในบทเรียน มีระเบียบวินัยให้ห้องเรียน
๙. ทักษะการพัฒนาความคิดของนักเรียน
การพัฒนาความคิดของนักเรียน หมายถึง กระบวนการพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบของการมีความสามรถในการสร้างความคิดรวบยอด รู้จักคิด รู้จักการแก้ไขปัญหา และ เกิดความคิดสร้างสรรค์
แสดงความคิดเห็นได้นะครับ